แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เทคนิคการคิด แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เทคนิคการคิด แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เทคนิคที่ช่วยสนับสนุนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

1. การอภิปรายเป็นแบบการพูดซึ่งมีลักษณะคล้ายการสนทนา แต่การอภิปรายแตกต่างกับการสนทนาในลักษณะสำคัญ คือ การอภิปรายมีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน เช่น การตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนการสนทนาโดยทั่วไปไม่ได้กำหนดเรื่องที่จะสนทนาไว้ก่อน และอาจเปลี่ยนเรื่องไปได้ต่างๆ สุดแต่เหตุการณ์
แบบการอภิปราย มีหลายแบบ แต่ที่จะกล่าวถึงจะเป็นแบบที่นิยมกันทั่วไป คือ การอภิปรายแบบธรรมดา และการอภิปรายเป็นคณะ
1.1 การอภิปรายแบบธรรมดา เป็นการร่วมประชุมของกลุ่มบุคคลซึ่งไม่มากนัก โดยมีผู้หนึ่งทำหน้าที่ดำเนินการอภิปราย เพื่อปรึกษาหารือหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมคนใดจะอภิปรายก่อนหรือหลังก็ได้ มักใช้กับเรื่องทางวิชาการในชั้นเรียน การประชุม สัมมนาหรือการประชุมของสโมสร สมาคมและหน่วยงานต่างๆ
1.2 การอภิปรายเป็นคณะ เป็นการประชุมให้ความรู้หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในคณะ ผู้อภิปรายซึ่งจัดขึ้นโดยเฉพาะประมาณ 5 คน และมีผู้หนึ่งทำหน้าที่ดำเนินการอภิปราย ผู้เข้าร่วมประชุมนอกนั้นเป็นผู้ฟัง ผู้อภิปรายแต่ละคนได้รับมอบหมายให้พูดในเวลาต่างๆ กัน เป็นการพูดและซักถามระหว่างคณะผู้อภิปรายคนใดคนหนึ่งได้ในตอนท้าย
1.3 การอภิปรายในชั้นเรียนการอภิปรายในชั้นเรียนมีลักษณะเป็นการอภิปรายแบบธรรมดา ใช้ในระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยสนับสนุนให้นักเรียนมีกิจกรรมโดยอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนในหมู่นักเรียนด้วยกัน การเรียนวิธีนี้ได้ผลดีกว่าการที่ครูเป็นผู้บอกความรู้และนักเรียนเป็นฝ่ายรับฟัง เพราะนักเรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะในการใช้ภาษาครบทั้ง 4 ประการ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน พร้อมๆ กันไป ทั้งนี้เนื่องจากในการอภิปราย นักเรียนจะต้องไปค้นคว้าอ่านเรื่องที่จะอภิปรายมาก่อน แล้วกลั่นกรองบันทึกหรือเรียบเรียงไว้เพื่อใช้ในการอภิปราย เป็นการฝึกทักษะอ่านและคิด นอกเหนือจากการฟังและพูด ซึ่งเป็นทักษะที่ได้โดยตรงจากการอภิปราย (สนั่น ประเสริฐศรี, 2549; http://linux.kr.ac.th/ebook2/sanan_p/06. html)
2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Co-operative Learning) เป็นวิธีการเรียนที่ใช้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้ทั้งทางด้านองค์ความรู้ จิตใจและสังคม ช่วยให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในความแตกต่างระหว่างบุคคลในกลุ่มผู้เรียน เคารพความคิดเห็นและความสามารถของผู้อื่นที่แตกต่างจากตน ตลอดจนรู้จักช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้เรียน ซาลวิน (Slavin, 1990)
2.1 ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือ
จอนห์สัน และ จอนห์สัน (Johnson and Johnson, 1997) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จมีอยู่ 5 ประการ คือ
2.1.1 ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก (Positive Interdependent)
2.1.2 การปฏิสัมพันธ์โดยตรงของสมาชิก (Face - to - Face Primitive Interaction)
2.1.3 ความรับผิดชอบส่วนบุคคล (Individual Accountability)
2.1.4 ทักษะทางมนุษย์สัมพันธ์และทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม (Inter – personal and Small – Group Skills)
2.2 กระบวนการทำงานกลุ่ม (Group Process)
คุณลักษณะของผู้เรียนเพื่อการเรียนแบบร่วมมือ โดยทั่วไปการเรียนแบบร่วมมือมีคุณลักษณะดังนี้
2.2.1 ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางบวก สมาชิกในกลุ่มทุกคนจะมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญและจำเป็นในกลุ่มทุกคน
2.2.2 ผู้สอนผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด (Face - to- Face Interaction) สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตน
2.2.3 ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม
2.2.4 ผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์และกระบวนการกลุ่ม
2.3 การประเมินผลการเรียนจะเน้นองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อ
การปฏิบัติตัวของผู้สอนเพื่อการเรียนแบบร่วมมือของผู้เรียน ซาลวิน (Slavin, 1990)
2.3.1 ผู้สอนต้องเตรียมแหล่งค้นคว้าให้พร้อมสำหรับผู้เรียนค้นคว้า
2.3.2 ผู้สอนต้องเป็นแหล่งข้อมูลและต้องมีประสบการณ์และข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนกับผู้เรียนได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
2.3.3 ผู้สอนต้องมีภาษาท่าทางและคำพูดที่กระตุ้นผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
2.3.4 ผู้สอนต้องมีการแสดงออกที่สะท้อนถึงการสอนแบบร่วมมือกับบุคลากรในสถาบัน
2.3.5 ผู้สอนเสนอตัวอย่างให้ผู้เรียนได้เห็นประจักษ์ว่า การเรียนแบบร่วมมือทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้และประสบผลสำเร็จในการทำงาน
2.3.6 ผู้สอนต้องมีวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากจำนวนครั้งของการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนมีความสัมพันธ์กับเพื่อเชิงบวก ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการค้นคว้าข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ
2.3.7 ผู้สอนต้องให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนเพื่อการปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียน
2.4 รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ ที่ใช้กันในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
2.4.1 รูปแบบ Jigsaw เป็นการสอนที่อาศัยแนวคิดการต่อภาพ ผู้เสนอวิธีการนี้ คือ Aronson et.al (1978, pp.22-25) การสอนแบบนี้นักเรียนแต่ละคนจะได้ศึกษาเพียงส่วนหนึ่งหรือหัวข้อย่อยของเนื้อหาทั้งหมด โดยการศึกษาเรื่องนั้นๆ จากเอกสารหรือกิจกรรมที่ครูจัดให้ ในตอนที่ศึกษาหัวข้อย่อยนั้น นักเรียนจะทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อนที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อย่อยเดียวกัน และเตรียมพร้อมที่จะกลับไปอธิบายหรือสอนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มพื้นฐานของตนเอง Jigsaw มีองค์ประกอบ ที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
2.4.1.1 การเตรียมสื่อการเรียนการสอน (Preparation Of Materials)
2.4.1.2 การจัดสมาชิกของกลุ่มและของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Teams and Expert Groups)
2.4.1.3 การรายงานและการทดสอบย่อย (Reports And Quizzes
ขั้นตอนการสอนแบบ Jigsaw มีดังนี้
ขั้นที่ 1 ครูแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อยเท่าจำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่ 2 จัดกลุ่มนักเรียนให้มีสมาชิกที่มีความสามารถคละกัน
ขั้นที่ 3 เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Groups)
ขั้นที่ 4 นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับกลุ่มเดิมของตน
ขั้นที่ 5 นักเรียนแต่ละคนทำแบบทดสอบเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมดทุกหัวข้อ แล้ว
ขั้นที่ 6 กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับรางวัล หรือการชมเชย (http://www.jigsaw.org/overview.htm, 2548; http://www.jigsaw.org/steps.htm, 2548; http://www.cals.ncsu.edu:8050/agexed/leap/aee535/CooperativeLearningModels.htm, 2548; http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_1. htm.2548)
2.4.2 รูปแบบ STAD (Student Teams-Achievement Division)
Slavin ได้เสนอรูปแบบการเรียนแบบเป็นทีม (Student Teams Learning Method) ซึ่งมี 4 รูปแบบ คือ Student Teams-Achievement Divisions (STAD) และ Teams-Games-Tournaments (TGT) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถปรับใช้กับทุกวิชาและระดับชั้น Team Assisted Individualization (TAI) เป็นรูปแบบที่เหมาะกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และ Cooperative Integrated Reading and Composition (CIRC) ซึ่งเป็นรูปแบบในการสอนอ่านและ การเขียน
2.4.2.1 หลักการพื้นฐานของรูปแบบการเรียนแบบเป็นทีม ของSlavin ประกอบด้วย
1) การให้รางวัลเป็นทีม (Team Rewards)
2) การจัดสภาพการณ์ให้เกิดความรับผิดชอบในส่วนบุคคลที่จะเรียนรู้ (Individual Accountability)
3) การจัดให้มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประสบความสำเร็จ (Equal Opportunities For Success)
2.4.2.2 รูปแบบ STAD เป็นรูปแบบหนึ่งที่ Slavin ได้เสนอไว้ เมื่อปี ค. ศ.1980 นั้นมี องค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1) การนำเสนอสิ่งที่ต้องเรียน (Class Presentation)
2) การทำงานเป็นกลุ่ม (Teams)
3) การทดสอบย่อย (Quizzes)
4) คะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน (Individual Improvement Score)
5) การรับรองผลงานของกลุ่ม (Team Recognition)
2.4.2.3 ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นสอน ครูดำเนินการสอนเนื้อหา ทักษะหรือวิธีการเกี่ยวกับบทเรียนนั้นๆ อาจเป็นกิจกรรมที่ครูบรรยาย สาธิต ใช้สื่อประกอบการสอน หรือให้นักเรียนทำกิจกรรม การทดลอง
ขั้นที่ 2 ขั้นทบทวนความรู้เป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิก 4-5 คน ที่มีความสามารถทางการเรียนต่างกัน สมาชิกในกลุ่มต้องมีความเข้าใจว่า สมาชิกทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกันและกันในการศึกษาเอกสารและทบทวนความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบย่อย
ขั้นที่ 3 ขั้นทดสอบย่อย ครูจัดให้นักเรียนทำแบบทดสอบย่อย หลังจากนักเรียนเรียนและทบทวนเป็นกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนด นักเรียนทำแบบทดสอบคนเดียวไม่มีการช่วยเหลือกัน
ขั้นที่ 4 ขั้นหาคะแนนพัฒนาการ คะแนนพัฒนาการเป็นคะแนนที่ได้จากการพิจารณาความแตกต่างระหว่างคะแนนที่ต่ำสุดการทดสอบครั้งก่อนๆ กับคะแนนที่ได้จากการทดสอบครั้งปัจจุบัน
ขั้นที่ 5 ขั้นให้รางวัลกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนปรับปรุงตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับคำชมเชยหรือติดประกาศที่บอร์ดในห้องเรียน (http://www.pwcs.edu/curriculum/sol/stad.htm, 2548; http://www.cals.ncsu.edu:8050/agexed/leap/aee535/CooperativeLearningModels.htm; 2548; http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_1.htm, 2548; http://www.ku.ac.th/e-magazine/may47/it/ecollaborative.html, 2548)
2.4.3 รูปแบบ LT (Learning Together)
รูปแบบ LT (Learning Together) นี้ Johnson & Johnson เป็นผู้เสนอในปี ค. ศ.1975 ต่อมาในปี ค. ศ.1984 เขาเรียกรูปแบบนี้ว่า วัฏจักรการเรียนรู้ (Circles of Learning) รูปแบบนี้มีการกำหนดสถานการณ์และเงื่อนไขให้นักเรียนทำผลงานเป็นกลุ่ม ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันเอกสาร การแบ่งงานที่เหมาะสม และการให้รางวัลกลุ่ม
2.4.3.1 หลักการจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ
จอห์นสันและจอห์นสันได้เสนอหลักการจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ไว้ว่า
1) สร้างความรู้สึกพึ่งพากัน (Positive Interdependence)
2) จัดให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน (Face-To-Face Interaction)
3) จัดให้มีความรับผิดชอบในส่วนบุคคลที่จะเรียนรู้ (Individual Accountability)
4) ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะสังคม (Social Skills)
5) จัดให้มีกระบวนการกลุ่ม (Group Processing)
จากหลักการดังกล่าวทำให้ได้รูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน หรือ Learning together ที่นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ผลงานกลุ่มในขณะทำงาน นักเรียนช่วยกันคิดและช่วยกันตอบคำถาม พยายามทำให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมและทุกคนเข้าใจที่มาของคำตอบ ให้นักเรียนขอความช่วยเหลือจากเพื่อนก่อนที่จะถามครู และครูชมเชยหรือให้รางวัลกลุ่มตามผลงานของกลุ่มเป็นหลัก
2.4.3.2 การนำรูปแบบนี้ไปใช้ควรดำเนินการดังนี้
1) กำหนดวัตถุประสงค์การสอนให้ชัดเจน
2) จัดกลุ่มให้มีขนาดไม่เกิน 6 คน
3) จัดให้มีนักเรียนนั่งหันหน้าเข้าหากันเป็นวง
4) จัดเอกสารหรือสื่อการสอนที่ทำให้นักเรียนต้องพึ่งพาอาศัยกัน
5) กำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มเพื่อให้เกิดการพึ่งพากัน
6) อธิบายงานที่มอบหมายให้นักเรียนทำ
7) แจ้งเงื่อนไขเพื่อจัดสภาพให้เกิดความเกี่ยวพันกันในเรื่องของเป้าหมายร่วม
8) จัดสภาพให้เกิดความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของแต่ละคน
9) จัดสภาพให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่ม
10) อธิบายเกณฑ์ของความสำเร็จ
11) ระบุพฤติกรรมที่คาดหวัง
2.4.3.3 ระหว่างที่นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม ครูมีบทบาท ดังนี้
1) สรุปบทเรียนโดยนักเรียนและครู
2) นักเรียนประเมินการทำงานของสมาชิกในกลุ่มและหาแนวทาง แก้ไขปัญหา
3) ประเมินผล
2.4.3.4 ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบ LT
1) ครูและนักเรียนทบทวนเนื้อหาเดิม หรือความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
2) ครูแจกแบบฝึกหรือใบงานให้ทุกกลุ่ม กลุ่มละ 1 ชุดเหมือนกัน นักเรียนช่วยทำงานโดยแบ่งหน้าที่แต่ละคน
3) แต่ละกลุ่มส่งกระดาษคำตอบหรือผลงานเพียงชุดเดียว ถือว่าเป็นผลงานที่สมาชิกทุกคนยอมรับ และเข้าใจแบบฝึกหรือการทำงานชิ้นนี้แล้ว
4) ตรวจคำตอบหรือผลงานให้คะแนนด้วยกลุ่มเองหรือครูก็ได้ กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รางวัลหรือติดประกาศไว้ในบอร์ด (http://www.scotland.gov.uk/learningtogether/leto-00. htm, 2548; http://school.obec.go.th/ sup_br3/cr_1. htm, 2548 ; http://www.ncsl.org.uk/media/f7b/96/randd-le-leaders-learning.pdf, 2548; http://www.ku.ac.th/e-magazine/may47/it/ecollaborative.html, 2548)
2.4.4 รูปแบบ TAI (Team Assisted Individualization)
TAI (Team Assisted Individualization) คือ วิธีการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ ลงมือทำกิจกรรมในการเรียนได้ด้วยตนเองตามความสามารถของตนและส่งเสริม ความร่วมมือภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นที่ 1 จัดนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน
ขั้นที่ 2 ทดสอบจัดระดับ (Placement Test)
ขั้นที่ 3 นักเรียนศึกษาเอกสารแนะนำบทเรียน ทำกิจกรรมจากสื่อที่ได้รับ เสร็จแล้วส่งขั้นที่ 4 ให้เพื่อนในกลุ่มตรวจ
ขั้นที่ 5 เมื่อนักเรียนทำแบบฝึกหัดทักษะในสื่อที่ได้เรียนจบแล้ว
ขั้นที่ 6 ทดสอบนักเรียนด้วยแบบทดสอบประจำหน่วย (Unit Test)
ขั้นที่ 7 ครูคิดคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่ม แล้วจัดอันดับ
(http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_1. htm, 2548; http://www.ku.ac.th/e-magazine/may47/ it/ecollaborative.html, 2548)
2.4.5 รูปแบบ TGT (Teams – Games -Tournaments)
การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือตามรูปแบบ TGT เป็นการเรียนแบบร่วมมือกันแข่งขันทำกิจกรรม โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมดังนี้
ขั้นที่ 1 ครูทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วครั้งก่อน ด้วยการซักถามและอธิบาย ตอบข้อสงสัยของนักเรียน
ขั้นที่ 2 จัดกลุ่มแบบคละกัน (Home Team) กลุ่ม 3-4 คน
ขั้นที่ 3 แต่ละทีมศึกษาหัวข้อที่เรียนจากแบบฝึก (Worksheet And Answer Sheet)
ขั้นที่ 4 การแข่งขันตอบปัญหา (Academic Games Tournament)
ขั้นที่ 5 นักเรียนกลับมากลุ่มเดิม (Home Team) รวมแต้มโบนัสของทุกคน ทีมใดที่มีแต้มโบนัสสูงสุด จะให้รางวัล
(http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_1. htm, 2548; http://www.ku.ac.th/e-magazine/ may47/it/ecollaborative.html, 2548)
2.4.6 รูปแบบ GI (Group Investigation)
GI (Group Investigation) พัฒนาโดย Sharan และคณะ เป็นรูปแบบการเรียนแบบร่วมมือที่มีความซับซ้อนและกว้างมาก ปรัชญาของรูปแบบ GI ก็คือต้องการปลูกฝังการร่วมมือกันอย่างมีประชาธิปไตย มีการกระจายภาระงานและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เท่าเทียมกันของสมาชิกในกลุ่ม GI มีการกระตุ้นบทบาทที่แตกต่างกันทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เป็นการส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยกลุ่ม
2.4.6.1 แนวคิดในการจัดการเรียนรู้
1) นักเรียนแต่ละคนจะได้แสดงความสามารถของตนในการแสวงหาความรู้
2) นักเรียนแต่ละคน ต้องถ่ายทอดความรู้หรือวิธีการทำงานให้เพื่อนนักเรียนเข้าใจด้วย
3) ทุกคนต้องร่วมแสดงความคิดเห็น อภิปรายซักถามจนเข้าใจในทุกเรื่อง
4) ทุกคนต้องร่วมมือกันสรุปความเข้าใจที่ได้นำส่งอาจารย์เพียง 1 ฉบับเท่านั้น
5) เหมาะกับการสอนความรู้ที่สามารถแยกเป็นอิสระได้เป็นส่วนๆ หรือแยกทำได้หลายวิธีหรือการทบทวนเรื่องใดที่แบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ ได้ หรือการทำงานที่แยกออกเป็นชิ้นๆ ได้
2.4.6.2 GI มีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน 6 ประการ คือ
1) การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา (Topic Selection)
2) การวางแผนร่วมมือกันในการทำงาน (Cooperative Planning)
3) การดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ (Implementation)
4) การวิเคราะห์และสังเคราะห์งานที่ทำ (Analysis and Synthesis)
5) การนำเสนอผลงาน (Presentation of Final Report)
6) การประเมินผล (Evaluation)
GI เป็นการเรียนแบบร่วมมือที่มอบหมายความรับผิดชอบอย่างสูงให้กับนักเรียน ในการที่จะบ่งชี้ว่าเรียนอะไรและเรียนอย่างไร ในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และตีความหมายของสิ่งที่ศึกษาโดยเน้นการสื่อความหมายและการแลกเปลี่ยนความคิดเป็นของกันและกันในการทำงาน
2.4.6.3 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
1) การทบทวนและชี้แจง (5-10 นาที)
2) การมอบหมายงานและปฏิบัติงาน (10-15 นาที)
3) สรุปผลงาน (15-20 นาที)
4) การประเมินผล ทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับเวลาที่เหลือ
(http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_1. htm, 2548; http://www.pwcs.edu/curriculum/sol/ groupinves.htm, 2548; http://wblrd.sk.ca/~bestpractice/coop/examples11. html, 2548; http://www.ied.edu.hk/apfslt/v5_issue1/tsoimf/tsoimf2. htm#two, 2548)
2.4.7 โปรแกรม CIRC (Cooperative Integrated Reading and Composition)
CIRC คือ โปรแกรมสำหรับสอนการอ่าน การเขียนและทักษะทางภาษา (Language arts) ใช้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย โดยเน้นที่หลักสูตรและวิธีการสอนโดยการพยายามนำการเรียนรู้แบบร่วมมือมาใช้ โปรแกรม CIRC พัฒนาขึ้นโดย Madden, Slavin และStevensในปี 1986 เป็นโปรแกรมที่ใหม่ที่สุดของวิธีการเรียนรู้เป็นทีม เป็นโปรแกรมการเรียนการสอนที่นำการเรียนแบบร่วมมือมาใช้กับการอ่านและการเขียนโดยตรง
CIRC-Reading สำหรับการอ่าน นักเรียนจะได้รับการสอนภายในกลุ่มการอ่าน หลังจากนั้นให้นักเรียนแยกออกเป็นทีม เพื่อทำงานตามกิจกรรมแบบร่วมมือโดยการจับคู่กันอ่าน การทำนายเรื่องที่อ่าน การสรุปเรื่องให้อีกคนหนึ่งฟัง การเขียนตอบคำถามจากเรื่อง การฝึกสะกดคำศัพท์ การถอดรหัสและฝึกเรื่องคำศัพท์ นักเรียนทำงานร่วมกันในทีมเพื่อให้นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ และได้ทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในการอ่าน
CIRC-Writing/Language Arts สำหรับการเขียน วิธีการที่ใช้ขึ้นอยู่กับ รูปแบบกระบวนการเขียน ซึ่งใช้รูปแบบทีมเหมือนกับโปรแกรม CIRC สำหรับการอ่านวิธีการนี้นักเรียนทำงานร่วมกันเพื่อวางแผน ร่างต้นฉบับ ทบทวนแก้ไข รวบรวมและลำดับเรื่อง และพิมพ์หรือแสดงผลงาน เรื่องที่แต่งออกมาโดย ครูเป็นผู้เสนอเนื้อหาเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับแนวทาง เนื้อหาและกลวิธีของการเขียน
CIRC สำหรับการอ่านและการเขียนนั้น โดยปกติแล้วจะใช้ควบคู่ไปด้วยกัน แต่กระนั้นก็สามารถใช้โปรแกรมนี้แยกในการสอนอ่าน หรือสอนการเขียนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้
2.4.7.1 โปรแกรมการเรียนแบบร่วมมือ มีลักษณะกิจกรรมโดยรวมดังนี้คือ
1) การสอนเริ่มต้นจากครู (Teacher Instruction)
2) การฝึกปฏิบัติภายในทีม (Team Practice)
3) นักเรียนได้ประเมินการเรียนรู้ของตนเอง (Individual Assessment)
4) คะแนนจากการประเมินนักเรียนแต่ละคน จะรวมเป็นคะแนนของทีม (Team Recognition)
2.4.7.2 การจัดกลุ่มนักเรียน
นักเรียนจะทำงานตามกิจกรรมที่กำหนด ภายในกลุ่มการเรียนรู้ที่มีนักเรียนซึ่งมีความสามารถแตกต่างกันในกลุ่มการอ่าน (Reading Groups) นั้น นักเรียนจะถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่ม การอ่าน จำนวน 2-3 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับระดับการอ่านของเขาโดยครูเป็นผู้กำหนดให้ว่า นักเรียน คนใดจัดว่าอยู่ในกลุ่มเก่ง ปานกลางหรืออ่อน
2.4.7.3 ทีม (Teams)
หลังจากการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มการอ่านแล้ว ครูจะกำหนดให้นักเรียนจับคู่กันแล้วแต่ละคู่จะถูกกำหนดให้เป็นทีม ที่ประกอบด้วยสมาชิกอีกคู่หนึ่งที่มาจากกลุ่มการอ่านอื่น ตัวอย่างเช่น ในทีมหนึ่งประกอบด้วยนักเรียนสองคนที่มาจากกลุ่มการอ่านที่เก่ง (Top Reading Group) และนักเรียนอีกสองคนที่มาจากกลุ่มการอ่านที่อ่อนกว่า (Low Reading Group) ส่วนนักเรียนที่จัดว่ามีปัญหาทางการอ่าน ก็ให้กระจายกันอยู่ในทีมต่างๆ มีกิจกรรมต่างๆ จำนวนหลายกิจกรรม ที่จะต้องทำงานร่วมกันแบบเป็นคู่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม อีกคู่หนึ่งที่อยู่ในทีมเดียวกันสามารถช่วยเหลือกันได้ นักเรียนในทีมจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่เป็นอิสระจากครู
2.4.7.4 การให้คะแนน
คะแนนของนักเรียนได้จากการตอบคำถาม (Quizzes) การแต่งประโยค (Composition) และสมุดรายงาน (Book Reports) โดยนำมารวมกันเป็นคะแนนของทีม
1) ทีมที่ทำคะแนนในทุกกิจกรรมได้ถึงเกณฑ์ 90% ของกิจกรรมที่ได้รับในสัปดาห์หนึ่งๆ จะได้รับการประกาศว่าเป็น “Super Team” และได้รับประกาศนียบัตร
2) ทีมที่ทำคะแนนได้ 80-90% จะได้รับประกาศให้เป็น “Great Team” และได้รับ ใบประกาศนียบัตรในระดับรองลงมา
2.4.7.5 ขั้นตอนการดำเนินการ สามารถทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) แจกเรื่องสำหรับอ่านให้นักเรียนทุกคน ครูแนะนำ คำศัพท์ใหม่ ทบทวนคำศัพท์เก่า ให้นักเรียนตั้ง จุดประสงค์ในการอ่าน
2) นักเรียนทุกคนอ่านเรื่องเองในใจครึ่งเรื่อง
3) จับคู่กันผลัดกันอ่านคนละ 1 วรรค ขณะที่คนหนึ่งอ่านอีกคนหนึ่งจะต้องคอยตามไปด้วยเพื่อตรวจดูว่าคู่ของตน อ่านผิดหรือไม่ จะได้ช่วยกันแก้ไข
4) เมื่ออ่านมาได้ครึ่งเรื่องให้นักเรียนหยุด เขียนบรรยาย ลักษณะของเรื่องทำนายเรื่องต่อไปว่าปัญหาจะถูกแก้ไข อย่างไรเขียนลงในกระดาษของตนเอง แล้วเขียนตอบเป็น ผลงานของทีมอีก 1 ชุด
5) นักเรียนอ่านเองในใจต่อจนจบ แล้วจับคู่ผลัดกันอ่านคนละวรรคจนจบเรื่อง ทีม 1 ชุด
6) แจกรายการคำศัพท์ใหม่หรือคำศัพท์ยากจากเรื่อง ให้นักเรียนจับคู่ กับสมาชิกในทีม ฝึกอ่านออกเสียงจน สามารถอ่านได้ถูกต้องและคล่องแคล่วจับคู่กันในทีม
7) แจกรายการคำจากเรื่องที่อ่านให้นักเรียนเขียนแสดงความหมายของคำ วลี หรือเขียนประโยคแสดงความหมายของ แต่ละคำ
8) นักเรียนอภิปรายเรื่องที่อ่านกันภายในกลุ่ม แล้วให้ นักเรียน สรุปประเด็นหรือจุดสำคัญของเรื่องกับคู่ของตนโดยให้ นักเรียนใช้คำพูดของตนเอง แล้วให้ช่วยกันเขียนสรุปเป็น ผลงานของทีม 1 ชุด
9) แจกรายการคำที่เขียนคำไม่สมบูรณ์ (Disappearing List) ให้นักเรียนผลัดกันถามเพื่อสะกดคำให้ถูกต้อง
10) ให้นักเรียนแต่ละคนประเมินสมาชิกทุกคนว่าประสบความสำเร็จหรือไม่
11) หลังจากเรียน 2 ครั้งแล้ว นักเรียนจะถูกทดสอบโดยให้เขียนประโยคจากคำศัพท์ที่กำหนดให้ ทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน และอ่านรายการคำศัพท์แบบออกเสียงให้ครูฟัง ในขั้นนี้ นักเรียนไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ (http://www.intime.uni.edu/ coop_learning/ch4/types.htm/2548; http://sps.k12. mo.us/coop/ecoopmain.html2548; )
2.5 การเรียนแบบร่วมมือสามารถแบ่งประเภทได้ 2 ประเภท ดังนี้
2.5.1 การเรียนแบบร่วมมือที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดคาบเรียน หรือ ตั้งแต่ 1 คาบเรียนขึ้นไป วิธีการหรือเทคนิคเหล่านี้มีลักษณะการจัดกิจกรรมแตกต่างกัน ซึ่ง แต่ละเทคนิคได้ออกแบบเหมาะสมกับเป้าหมายที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ เทคนิคที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
2.5.2 เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือที่ใช้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกิจกรรม การเรียนการสอนในแต่ละคาบ คือ ใช้ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นสอน โดยสอดแทรกในขั้นตอนใดๆ ของการสอน ขั้นทบทวน หรือขั้นวัดผลของคาบเรียนใดคาบเรียนหนึ่ง โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นวิธีที่ใช้เวลาช่วงสั้นประมาณ 5-10 นาที จนถึง 1 คาบเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบที่พัฒนาโดย คาแกน (Kagan)
2.6 การสังเกตพฤติกรรมการร่วมมือในชั้นเรียน
การสังเกตเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่เปิดโอกาสให้ผู้รวบรวมข้อมูลสัมผัสกับความเป็นจริงและสิ่งที่ต้องการจะรวบรวมด้วยตนเอง ทำให้มีโอกาสที่จะรวบรวมข้อมูลได้ตรงสภาพความเป็นจริงได้มากและสามารถที่จะรวบรวมรายละเอียดของข้อมูลในแนวลึกได้ การสังเกตพฤติกรรม การร่วมมือในชั้นเรียนของนักเรียนโดยใช้วิธีการสังเกต จะช่วยให้ได้รายละเอียดของพฤติกรรมที่แสดงถึงการร่วมมือของนักเรียนในชั้นเรียนได้ชัดเจนขึ้น
2.6.1 ลักษณะของผู้สังเกต
การสังเกตเป็นวิธีการพื้นฐานที่จะได้ข้อมูลมาตามความต้องการ ซึ่งการที่จะได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้นั้น ผู้สังเกตต้องมีลักษณะดังนี้
2.6.1.1 ความตั้งใจของผู้สังเกต (Attention)
2.6.1.2 ประสาทสัมผัส (Sensation)
2.6.1.3 การรับรู้ (Perception)
2.6.2 หลักการสังเกต
ผู้สังเกตที่ดี คือ ผู้ที่ทำการสังเกตแล้วได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งผู้สังเกตจะเป็นผู้สังเกตที่ดีได้นั้นต้องมีหลักในการสังเกต ดังนี้
2.6.2.1 กำหนดการสังเกตให้จำกัดเฉพาะเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ใช่เห็นสิ่งใด มากระทบแล้วรับไว้หมด
2.6.2.2 สังเกตอย่างมีความมุ่งหมาย มิใช่ว่าสังเกตไปเรื่อยๆ คือ ต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะดู เมื่อพบเห็นแล้วแปลความหมายออกมาว่าคืออะไร
2.6.2.3 สังเกตด้วยความพินิจพิเคราะห์จนสามารถมองเห็นรายละเอียดของเรื่องนั้นได้อย่างลึกซึ้ง มิใช่ว่ามองเห็นแต่ผิว หรือลักษณะของภายนอกเท่านั้น
2.6.2.4 เมื่อสังเกตแล้วต้องมีการบันทึกไว้เพื่อเตือนความจำ จะได้ไม่หลงลืมรายละเอียดที่ได้สังเกตมา
2.6.2.5 ผู้สังเกตควรใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือ เครื่องมือวัดอื่นๆ ประกอบในการสังเกตนี้ด้วย
2.6.3 ประเภทของการสังเกต
การรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.6.3.1 การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) หมายถึง การสังเกต ที่ผู้วิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มที่ตนศึกษา และมีการทำกิจกรรมร่วมกัน
2.6.3.2 การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant Observation) หมายถึง การสังเกตที่ ผู้วิจัยกระทำตนเป็นบุคคลภายนอก ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่กลุ่มกำลังทำกันอยู่ การไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความหมายนี้ หมายถึง ไม่เข้าไปร่วมในกิจกรรมของกลุ่มนั้นเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณสถานที่ด้วย มักใช้ในกรณีที่ไม่ต้องการให้ผู้ถูกสังเกตรู้สึก รบกวนจากตัวผู้สังเกต ผู้สังเกตเป็นเพียง ผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
2.6.4 ระบบการบันทึกข้อมูล
ระบบการบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสังเกตนี้ ได้มีการแบ่งไว้หลายระบบ ดังนี้
2.6.4.1 ระบบเครื่องหมาย (Sign System)
2.6.4.2 ระบบจำแนกประเภท (Category System)
อีเวอร์ทสันและฮอลลีย์ (Evertson and Holley, 1982 pp.329) ได้เสนอระบบการบันทึกการสังเกตไว้ต่างออกไป โดยสรุปได้ คือ ระบบมาตราจัดอันดับ (Rating System) เป็นระบบที่ได้มีการระบุพฤติกรรมที่ต้องการศึกษาไว้แล้ว แต่ผู้สังเกตจะสังเกตพฤติกรรมตลอดคาบเรียนก่อนแล้วจึงบันทึกข้อมูลในภายหลัง ในการใช้ระบบการบันทึกนี้ ผู้สังเกตต้องอาศัยความรู้สึกรวมๆ ประเมินพฤติกรรมเฉพาะอย่างที่สังเกตมาตลอดคาบเรียน แล้วจึงบันทึกข้อมูลโดยจัดอันดับว่าพฤติกรรมที่ระบุไว้นั้นควรจัดอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด (http://www.sobkroo.com/cr_1. htm, 2548; http://www.budmgt.com/budman/bm01/learner.html, 2548; http://edtech.kennesaw.edu/intech/ cooperativelearning.htm, 2548; http://literacy.calumet.purdue.edu/STUDENT/clarkjs/circ.html, 2548; http://www.co-peration.org/2548; http://www.kaganonline.com2548; http://www.ericfacility.net/ericdigests/ed370881. html2548; http://www.newhorizons.org/strategies/ cooperative/front_cooperative.htm, 2548; http://www.lgu.ac.uk/deliberations/collab.learning/ panitz2. html2548; http://www.intime.uni.edu/coop_learning/ch4/types.htm/2548; http://sps.k12. mo.us/coop/ecoopmain.html2548; )
3. การระดมพลังสมองคือ การเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา หรือเสนอความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มโดยวิธีคิดแบบปัจจุบันทันด่วน เท่าที่ความคิดของสมาชิกคนใดคนหนึ่งจะคิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่เสนอขึ้นมาเท่านั้น คำเสนอจะถูกบันทึกไว้ (บนกระดานดำ) เพื่อประเมินผลหรือตามมติภายหลัง
ควรใช้เมื่อสมาชิกในกลุ่มรู้จักกันดี มีความรู้ในปัญหานั้นแล้วพอสมควร และบรรยากาศของกลุ่มเอื้ออำนวยให้ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงอก เกรงใจ
3.1 ประโยชน์ของการระดมพลังสมอง
3.1.1 ให้โอกาสแสดงความคิดเห็นในปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องคอยไตร่ตรองไม่มีข้อ จำกัดหรือการกีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น
3.1.2 ได้รับความเห็นหลาย ๆ ด้าน ทำให้กลุ่มมีโอกาสในการพิจารณาเลือกหลายสิ่ง ไม่จำเพาะเจาะจงอยู่ในความคิดเดียวตลอดไป
3.1.3 สร้างกลุ่มให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้เพื่อความก้าวหน้าของกลุ่ม
3.1.4 เป็นวิธีที่ให้โอกาสแก่ทุกคนเสนอความคิดเห็นได้ ซึ่งจะช่วยสร้างให้กลุ่มเกิดมีคุณธรรมและเกิดความรักหมู่คณะขึ้น

3.2 การจัดเตรียม
3.2.1 การจัดกลุ่ม “ระดมพลังสมอง” มีอุปกรณ์สำหรับเขียนเช่น กระดานดำหรือกระดาษติดบอร์ดขนาดใหญ่ มีประธาน และสมาชิกกลุ่ม อาจเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการเพื่อช่วย ในการจดบันทึกการประชุมหรือเขียนกระดานดำหรือบอร์ด
3.2.2 สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนพอสมควร (10-15 คน) และให้เวลาแก่สมาชิกได้คิดชั่วขณะ หนึ่งก่อนที่จะเริ่มเปิดแสดงความคิดเห็น
3.2.3 ปัญหาที่จะป้อนให้แก่กลุ่มมีทางออกหรือมีทางเลือกได้หลายนัย
3.2.4 กำหนดเวลาให้แน่นอนว่าจะใช้เวลาเสนอนานเท่าไร จัดสถานที่ให้กลุ่มมีความเป็นกันเอง ตามสบายให้มากที่สุด
3.3 วิธีการและขั้นตอน
3.3.1 หน้าที่ของผู้นำ
3.3.1.1 แจ้งปัญหา หรือเรื่องที่ต้องการให้สมาชิกในกลุ่มได้เสนอความคิดเห็นให้ทุกคนทราบ มีคนคอยบันทึกข้อเสนอหรือความเห็นของสมาชิกบนกระดานดำ
3.3.1.2 แจ้งวิธี หรือสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มต้องปฏิบัติ เช่น เสนอความคิดสั้น ๆ อย่าให้ยาว จำกัดเวลา (วิธีการนำเสนอมีหลายวิธี, พูด, การเขียน)
3.3.1.3 จัดลำดับก่อนหลังเมื่อมีผู้อยากจะพูดในเวลาเดียวกัน 2 คน และพยายามกระตุ้นให้ทุกคนร่วมเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ
3.3.1.4 สร้างบรรยากาศให้ทุกคนได้ออกความคิดเห็นต่าง ๆ กันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
3.3.1.5 ประเมินผล หรือสอบคุณค่าของความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้มาจากกลุ่ม
3.4 หน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม
3.4.1 พยายามละทิ้งความคิดเก่า ๆ ที่เคยใช้อยู่และพยายามสร้างความคิดใหม่ ๆ ให้มาก
3.4.2 พยายามแสดงความคิดเสนอขึ้นมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
3.4.3 พยายามแสดงความเคารพในความคิดที่ผู้อื่นเสนอ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
3.5 ข้อควรระวัง
เมื่อเสร็จวิธีแล้วควรเปิดโอกาสให้สมาชิกให้เหตุผลกันเองว่าทำไมให้คำตอบเช่นนั้น แต่อย่าให้การเสนอความเห็นของสมาชิกยืดเยื้อเกินไป ไม่ควรมีการวิจารณ์ความคิดที่สมาชิกเสนอขึ้นมา ก่อนที่จะอธิบายปัญหาให้กระจ่างแจ้งเสียก่อนเมื่อสิ้นสุดการอธิบายแล้วจึงปิดอภิปรายเพื่อลงมติว่าคำตอบใดเป็นคำตอบที่ดีที่สุด (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) http://pioneer.netserv.chula.ac.th/ ~vsuntare/ docum/brainstm.html
4. การตั้งประเด็นคำถาม
การถามคำถามเป็นทักษะที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการสอนที่ช่วยพัฒนา การคิดของผู้เรียนอย่างมีระบบและขั้นตอน การถามคำถามที่ดีสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน เพิ่มความมั่นใจให้บรรลุความสำเร็จรวมทั้งสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น (Eggen and Kaychak, 1996, p.40)
การใช้คำถาม คำถามเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้มาก การใช้คำถามอย่างมีความหมายของครู จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ เพราะคำถามจะทำให้เด็กคิด เชื่อมโยงความรู้เก่าสู่ความรู้ใหม่ ให้ความสนใจต่อสิ่งที่กำลังเรียนรู้มากขึ้น ถ้าคำถาม ดีจะช่วยให้เด็กเรียนอย่างมีเหตุผล ค้นคว้าหาความรู้และขยายความคิดกว้างขวางยิ่งขึ้นคำถามที่ดีควรเป็นคำถามที่เด็กต้องค้นหาคำตอบ มิใช่ให้เพียงแต่ตอบรับว่าใช่หรือไม่ คำถามมีหลายประเภทคำถามที่ครูใช้ควรเป็นคำถามปลายเปิด นั่นคือ คำถามที่ผู้เรียนต้องคิดค้นหาคำตอบ มีหลายคำตอบ ต้องอาศัยข้อมูลหลายทาง การถามด้วยคำถามแบบอเนกมัย เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้ใช้ความรู้ สิ่งที่ครูไม่ควรทำคือ การใช้คำถามปิด เพราะเป็นคำถามทิศทางเดียว คำตอบเดียว เช่น ใช่ไหม อะไรเอ่ย อาจใช้บ้างเพื่อเป็นคำถามนำ คำถามที่มีคำตอบจำกัดไม่สร้างสรรค์ปัญญา เช่น คำถามว่า “อะไรเอ่ยต้นเท่าครกใบปรกดิน” เด็กที่รู้คำตอบจะตอบในทันทีว่า “ตะไคร้” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเด็กฉลาด แต่เด็กจำได้คือเป็นเพียงความรู้ความจำเท่านั้น (กุลยา ตันติผลาชีวะ, 2549)
การถามคำถามที่ดีเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเป็นการบูรณาการหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงเวลาสั้นและรวดเร็ว เช่น การจดจำเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของบทเรียน การควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียน การดำเนิน การสอนบทเรียนที่กำหนดไว้ และการเตรียมตัวในการตั้งคำถามใหม่ต่อไป (Jogce, Weil and Shower, 1992, p.199) แต่เป็นสิ่งที่ครูทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ (Eggen and Kaychak, 1996, p.40)
ถ้าเราใช้คำถามที่กว้าง ข้อมูลที่ได้กลับมาจะเป็นข้อมูลที่กว้าง หากเราใช้คำถามที่คำถามที่แคบ ข้อมูลที่ตอบกลับมาจะเป็นข้อมูลที่แคบด้วย ตัวอย่างเช่น เราจะมีการจัดประเภทของคำถามในการใช้ทั่ว ๆ ไปได้ 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คำถามเปิดกว้าง เป็นคำถามที่ถามสั้น ๆ และให้ผู้ตอบได้ใช้วิจารณญาณแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น ช่วยแสดงความคิดเห็นว่าการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร ผู้ตอบจะตอบอะไรก็ได้ ไม่ผิด ตอบได้อย่างกว้างขวางตอบตามความคิดเห็น ตอบตามทัศนคติ หรือตอบตามหลักทฤษฎีก็ได้เรียกว่าคำถามเปิดกว้างคำตอบก็เปิดกว้างเช่นเดียวกัน
กลุ่มที่สอง คำถามที่ให้รายละเอียดมากกว่าประเภทที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น ทำไมมาทำงานที่นี่ คุณทำงานแล้วรู้สึกอย่างไร ลักษณะการตอบจะง่ายกว่าประเภทที่หนึ่ง สามารถตอบอะไรก็ได้แต่ต้องเกี่ยวข้องกับคำถามคือ ทำไม อย่างไร อะไร จะแคบขึ้น
กลุ่มที่สาม คำถามปิด เป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจงคำตอบเช่น ใช่ หรือไม่ใช่ เลือกอย่างไร ก. หรือ ข. เขาไม่สามารถตอบอย่างอื่นได้ ตรงนี้เรียกว่าถามให้เขาตอบเฉพาะเจาะจงคำตอบ ลักษณะอย่างนี้เขาจะตอบได้เฉพาะสิ่งที่เราให้เลือกตอบ และใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น
ทั้ง 3 ประเภทนี้เป็นกลุ่มประเภทของคำถามสามารถเลือกไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ถาม ตามคิดเห็นของผู้ถาม หรือตามลักษณะข้อมูลที่ผู้ถามต้องการจะได้รับจากผู้ตอบ (วิยะดา วรธนานันท์, 2549)
สุนีย์ เหมะประสิทธิ์ (2540, หน้า 20) ได้จำแนกชนิดของคำถามออกเป็น3ชนิด คือ 1) คำถามเชิงแนวคิด เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบในลักษณะของการอธิบาย ให้ เหตุผล หรือแนวคิด 2) คำถามเชิงประจักษ์ เป็นคำถามที่อยู่บนพื้นฐานของการสังเกตจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ หรือการทดลอง 3) คำถามเชิงคุณค่า เป็นคำถามที่เกี่ยวกับคุณค่าและส่วนมากจะเน้นในเชิงคุณภาพและการประเมินค่า นอกจากนั้น จอยส์, เวล และโชว์เวอร์ (Jogce, Weil and Shower, 1992, p.198) เน้นว่า คำถามที่ดีที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนมากที่สุดคือ คำถามที่สามารถตอบ”โดยใช้การสืบเสาะความรู้ และควรใช้คำถามที่ผู้เรียนต้องใช้ความคิดในการหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล การเปรียบเทียบ คิดได้หลากหลายทิศทาง และมีคำตอบที่ถูกหลายคำตอบ หรือ อาจใช้คำถาม อาทิเช่น ทำไม อย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นถ้า
เอกเจนและไคเชค (Eggen and Kaychak, 1996, p.40-42) ได้เสนอเทคนิคการใช้ คำถามอย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วย
1. ความถี่ของการถาม หมายถึง จำนวนครั้งที่ครูใช้คำถามกับผู้เรียนมีผลงานวิจัยยืนยันว่า ยิ่งครูใช้คำถมที่ดีมากเท่าไร ยิ่งเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากคำถามจะช่วยกระตุ้นและรักษาการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของผู้เรียนให้คงที่ และเมื่อมีการสื่อสารผ่านการรับรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้เรียนมีความเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น และปริมาณคำถามต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ควรพิจารณาจากกิจกรรมการเรียนการสอน
2. การกระจายโอกาสในการถูกถามอย่างเท่าเทียมกัน การถามคำถามมากเกินไปจะเกิดผล กระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เช่นกัน นอกจากจะถามคำถามที่ดีแล้วต้องมีการกระจายการถามอย่างสมดุลทั่วทั้งห้อง หมายถึง ทุกคนมีโอกาสเท่า ๆ กัน ที่จะถูกถาม วิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ดี คือ การเรียกชื่อให้ตอบคำถาม
3. การถามกระตุ้น หมายถึง เน้นการถามกระตุ้นเมื่อผู้เรียนตอบคำถามไม่ตรงประเด็น ไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง เป็นการถามเพื่อชี้แนะหรือเร้าผู้เรียนเกิดกำลังใจที่จะตอบให้ตรงประเด็นและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยคำถามเพื่อชี้แนะหรือเร้าผู้เรียนเกิดกำลังใจที่จะตอบให้ตรงประเด็นและชัดเจนยิ่งขึ้นโดยคำถามในการกระตุ้นที่นิยมใช้มาก คือ การให้ยกตัวอย่าง การให้เหตุผลหรือข้อมูลเพิ่มเติม
4. การรอคำตอบ เมื่อครูถามคำถาม ต้องหยุดรอคำตอบจากผู้เรียนการหยุดรอคำตอบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้มีเวลาคิดหาคำตอบ ซึ่งเกณฑ์ในการรอบคำตอบที่ดีที่สุดใช้เวลาประมาณ 3 – 5 นาที แต่จากงานวิจัยพบว่า ครูให้เวลาเพื่อรอคำตอบจากผู้เรียนในเวลาอันสั้นมากเพียง 1 นาที เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า การเพิ่มเวลาให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ ช่วยลดความกังวลของผู้เรียนได้ และทำให้ผู้เรียนคนอื่นอยากมีส่วนร่วมในการตอบคำถามมากขึ้น
ข้อควรคำนึงถึงคือต้องคำนึงถึงว่าเรากำลังถามใคร การศึกษาของผู้ที่มาถามคำถามเป็นอย่างไร วุฒิภาวะ ต่าง ๆ ความเหมาะสมในการใช้คำถาม ตรงนั้นเป็นอย่างไร ถามในห้องประชุม ถามตามลำพัง 2 ต่อ 2 หรือถามต่อหน้ากลุ่มคนอื่น ประเภทของคำถามนั้นเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการกรองคำถาม เช่น ถ้าเราเข้าใจผู้ฟังหรือเราจะถาม เราจะเลือกคำถามได้อย่างเหมาะสม ถามแล้วผู้ฟังเต็มใจที่จะตอบ ตอบแล้วผู้ฟังไม่เสียหน้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้สิ่งที่ได้มานั้นมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราถามไม่เป็นใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ถามในสิ่งที่ไม่ควรถามต่อหน้าที่ประชุม สิ่งที่จะได้กลับมาอาจเป็นความเงียบ ความไม่พอใจ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบสูญเสียไป ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงอย่างยิ่งว่าจะถามอย่างไรในโอกาสไหน และมีความเป็นทางการเพียงใด จะถามอย่างไรให้เขาอยากตอบ อันนี้คือสิ่งที่ควรคำนึงถึง
ปัญหาอุปสรรคในการตั้งคำถามเพื่อให้มีประสิทธิภาพ จากการที่ได้ปฏิบัติงานหรือฟังผู้ที่ปฏิบัติงานต่าง ๆ พบว่าการใช้คำถามนั้นอาจจะมีอุปสรรค เช่น ไม่ทราบว่าจะถามอย่างไร ให้มีคนให้ความร่วมมือที่จะตอบมาก ๆ เช่น ในการประชุม เมื่อเข้าประชุมแล้วมีคำถาม แต่ไม่มีคนตอบ จะทำอย่างไรให้เขาตอบหรือถามไปแล้ว เขาตอบกลับมาไม่ตรงประเด็น อาจจะต้องมองว่าเกิดจากอะไร เราใช้ภาษาไม่ถูกต้อง หรือเขาไม่เข้าใจคำถาม เมื่อเขาเข้าใจไม่ตรงประเด็น มีผลว่านำไปปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือนำไปถ่ายทอดผิดพลาด นำไปประชาสัมพันธ์ไม่ถูกต้องจะมีผลต่อผู้รับสารต่อไปอีก หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ ในการที่เราถามคำถามนั้น เราไม่ได้ฟังคำตอบจากผู้ตอบ เป็นผู้ถามอย่างเดียวทำให้ผู้ตอบรู้สึกว่าเราไม่ให้ความสำคัญ หรือผู้ตอบถูกละเลยไม่ให้ความร่วมมือ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ต้องตระหนักว่า เมื่อไรถามคำถามแล้ว ต้องรอฟังคำตอบด้วย และการเป็นผู้ถามคำถามนั้นต้องมีทักษะในเรื่องการฟังเข้ามาเกี่ยวข้อง ถามแล้วเขาตอบอย่างไร ทำไมถึงตอบอย่างนั้น ต้องให้ความสำคัญ ถ้าเราพยายามศึกษาสังเกตกริยาท่าทางผู้ตอบประกอบด้วย จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่ตอบมาตรงกับความรู้สึกนึกคิดหรือไม่ ตีเจตนาตรงนี้ ถ้าเราไม่คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ เราจะกลายเป็นคนที่พูดอย่างไม่ รับผิดชอบ ถามแล้วไม่รอฟังคำตอบ ไม่มีมารยาทในการถามคำถามก่อให้เกิดศัตรู เมื่อไปประสานงานจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ต้องคำนึงถึงและนำมาเป็นข้อสังเกตในการถามคำถาม (วิยะดา วรธนานันท์, 2549)

5. การสืบสวน
การสืบสวน เป็นการค้นหาความจริงโดยอาศัยหลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการจะพัฒนาความสามารถในการใช้สติปัญญาของผู้เรียนได้มาก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
5.1 สำหรับคุณค่าของวิธีการดังกล่าวอาจสรุปได้ ดังนี้
5.1.1 ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอนเพราะเขาจะต้องกำกับการเรียนการสอนด้วยตนเอง ดังนั้นบทบาทของผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉง
5.1.2 การเรียนโดยการเน้นที่ปัญหาจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในแง่ที่ว่าฝึกให้เขาเป็นผู้รู้จักลักษณะวิธีการแก้ปัญหา
5.1.3 เป็นการเรียนที่จะฝึกทักษะและความสามารถในการตัดสินใจ
5.1.4 บทบาทของผู้สอนเปลี่ยนจากผู้บอกมาเป็นผู้ถาม ซึ่งวิธีการดังกล่าว จะทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้นมากขึ้น
5.1.5 เป็นการยอมรับเจตคติของผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะในเรื่องค่านิยมและ เจตคติของผู้เรียน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาค่านิยมและเจตคติไปในด้านที่ดีด้วย
5.2 องค์ประกอบของการสืบสวน
การสอนด้วยวิธีการสืบสวนจะสำเร็จได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่มีประสิทธิภาพของวิธีการสอนดังกล่าว ดังนี้
5.2.1 ผู้สอน แม้ว่าผู้สอนจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน แต่มิได้หมายความว่าผู้สอน จะหมดความสำคัญลงไป ตรงกันข้ามยิ่งมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนมากในกรณีที่นำวิธีการสอนแบบสืบสวนมาใช้กับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ผู้สอนจะทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำของกาอภิปราย และเป็นผู้สรุปในตอนท้าย นอกจากนั้นยังเป็นผู้ดำเนินการในการอภิปรายด้วยรวมทั้งแก้ไขความเข้าใจผิดถ้ามีขึ้น ส่วนในการที่เน้นการเรียน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนไปสืบเสาะหาคำตอบเอาเองแต่ละคน ผู้สอนจะเป็นผู้ให้คำแนะนำทั้งในแง่วิธีการหาความรู้ และการวิเคราะห์ข้อมูลอีกด้วย ในการเรียนการสอนด้วยวิธีการสืบสวน ผู้สอนจะต้องคอยช่วยเหลือผู้เรียนในหลาย ๆ ประการด้วยกัน เช่น แนะนำแนวทางในการค้นหาคำตอบ แนะนำวิธีการคิดอย่างมีระบบระเบียบ ช่วยสรุปคำตอบ รวมทั้งแก้ไขข้อเข้าใจผิด เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สอนจะต้องตระหนักก็คือ ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและต้องพยายามส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน
5.2.2 ผู้เรียน วิธีการสอนแบบสืบสวนเน้นความสำคัญของผู้เรียน ความสำเร็จ ของวิธีการสอนดังกล่าวหรือบทเรียนจะมีความหมายและคุณค่าเมื่อผู้เรียนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองผู้เรียนเป็นผู้กำกับการเรียนการสอนด้วยตนเอง กล่าวคือ เริ่มจากการกำหนดปัญหาหรือประเด็นที่ตนสนใจจะศึกษา เมื่อได้ปัญหาแล้วจะไปเสาะหาความรู้เพื่อมาตอบปัญหานั้น การวางแผนการหาแหล่งข้อมูลหรือความรู้ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้จัดทำทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้สอนควรชี้ให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของตนเอง แนะนำให้เขาศึกษาด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ถ้ามีการฝึกฝนบ่อย ๆ เช่นนี้แล้วผู้เรียนจะเป็นผู้เคยชินกับระบบการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ใครมากำกับหรือคอยควบคุมอยู่ต่อไป ในท้ายที่สุดเขาจะมีนิสัยเป็นผู้ใฝ่รู้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
5.2.3 สภาพห้องเรียน สภาพห้องเรียนหรือบรรยากาศในห้องเรียนมีส่วนส่งเสริมการเรียน ด้วยวิธีสืบสวนสอบสวนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนนั้นผู้สอนควรส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน ความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตอบ การยอมรับนับถือความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายแต่ละคน บรรยากาศดังกล่าว จะเป็นไปได้อยู่ที่ผู้สอน ถ้าผู้สอนมีหัวใจเป็นประชาธิปไตยรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนส่งเสริมความใฝ่รู้ของผู้เรียนแล้วบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้เรียนแสดงอาการเบื่อหน่าย เฉยเมยไม่กระตือรือร้นบรรยากาศในห้องเรียนก็พลอยอับเฉาและผู้เรียนเกิดความรู้สึกไม่อยากเรียนต่อไป ในการสร้างบรรยากาศดังกล่าวผู้สอนอาจใช้คำถามที่น่าสนใจ ท้าทายให้คิดหรืออาจนำสื่อการสอน ทั้งสิ่งพิมพ์และโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ มาเสริมก็อาจทำให้ผู้เรียนอยากเรียนและสนใจในการสืบเสาะ หาความรู้ได้
5.2.4 ปัญหาหรือประเด็นที่จะนำมาสืบสวนปัญหาที่จะนำมาศึกษานั้น อาจเป็นปัญหาที่เป็นที่น่าสนใจ หรือประเด็นที่ถกเถียงกันคำตอบจากปัญหาโดยวิธีการสอนแบบสืบสวนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคำตอบเดียว คำตอบหรือทางเลือกอาจสรุปได้หลาย ๆ ประการ ตามความคิดเห็นของผู้เรียน
5.2.5 แหล่งความรู้ การสอนโดยวิธีการสืบสวนสอบสวนนั้นผู้เรียนจะต้องค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นจะต้องอาศัยแหล่งความรู้โดยที่ผู้สอนควรจะหามาให้ เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ สื่อการสอน
5.3 ขั้นตอนของการสืบสวน
กระบวนการสืบสวน อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นแบบ โดยมีลำดับขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวน ดังนี้
5.3.1 ขั้นการสังเกต ผู้สอนพยายามจัดสถานการณ์หรือเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการสังเกตและความสงสัยในเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้น เพื่อนำไปสู่ปัญหาที่จะศึกษาความสำคัญในขั้นแรกผู้สอนจะต้องวางแผนการเรียนการสอนก่อนว่าจะทำอย่างไรจึงจะเสนอเหตุการณ์ที่น่าสนใจหรือจัดสถานการณ์อย่างไรที่จะให้ผู้เรียนสนใจอย่างมาก เพราะถ้าเหตุการณ์หรือสิ่งที่ผู้สอนเสนอให้แก่ผู้เรียนเพื่อการนำไปสู่ปัญหาหรือข้อสงสัยนั้นไม่เป็นที่น่าสนใจของผู้เรียนแล้ว การดำเนินการสอนโดยวิธีการสืบสวนสอบสวนก็อาจประสบกับความล้มเหลว เมื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยแล้ว แน่นอนผู้เรียนย่อมต้องการคำตอบเพื่อขจัด ความสงสัยนั้น ผู้เรียนอาจถามผู้สอนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือผู้สอนเองอาจเป็นผู้ถามผู้เรียนก็ได้ แล้วแต่กรณีและความสนใจของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใดคำตอบที่จะต้องในขั้นนี้อาจเป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ ยังไม่ให้รายละเอียดมากนัก เพื่อนำไปสู่ขั้นที่สองคือขั้นการอธิบายและการค้นหาคำตอบ
5.3.2 ขั้นการอธิบาย ครูจะกระตุ้นให้ผู้เรียนช่วยกันค้นหาคำตอบสำหรับความสงสัยนั้น ๆ อาจใช้วิธีการตั้งสมมุติฐาน คือการให้ผู้เรียนช่วยกันคิดว่าคำตอบหรือคำอธิบายของปัญหาหรือความสงสัยนั้นควรเป็นอย่างไร ผู้สอนอาจจัดกิจกรรมการอภิปรายรูปแบบระดมความคิดจากความรู้เดิมของผู้เรียนในการตั้งสมมุติฐาน ถ้าความรู้เดิมไม่เพียงพออาจต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มผู้เรียนหรือผู้สอนอาจช่วยกันกำหนดชนิดและวิธีการในการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลชนิดใด ที่สมควรนำมาใช้หนังสือ ข้อเขียน คำสัมภาษณ์ ผลการทดลองรวมทั้งวิธีการที่จะได้ข้อมูลนั้นด้วย เช่น การสัมภาษณ์ การทดลอง การทัศนศึกษา การแสดงบทบาทสมมุติ กลุ่มอาจมอบหมายให้สมาชิกไปค้นหาข้อมูลดังกล่าว
5.3.3 ขั้นการพยากรณ์ ข้อมูลที่สืบค้นหามาได้ จะนำมาอธิบายข้อสมมุติฐานที่ตั้งไว้ รวมทั้งนำความรู้ดังกล่าวไปอธิบายปรากฏการณ์อื่นๆ ที่มีสภาพใกล้เดียงกัน
5.3.4 ขั้นการนำไปใช้ เมื่อผู้เรียนได้ค้นหาความรู้ และคำตอบเพื่อขจัดความสงสัยแล้ว ผู้สอนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนนำเอาความคิดดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วเท่านั้น การกระตุ้นให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในสภาพการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ จะทำให้ผู้เรียนมีความคิดกว้างขวางขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์โดยเอาข้อมูลที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ
5.4 ข้อจำกัดของการสืบสวน
5.4.1 ในกรณีที่นำวิธีการสืบสวนมาใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่มิใช่รายบุคคลแล้ว ผู้เรียนอาจไม่มีโอกาสร่วมกิจกรรมทุกคน มีผู้เรียนเพียงบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นการตัดสินใจ
5.4.2 การสอนแบบสืบสวนสอบสวนนั้นเป็นวิธีการที่มุ่งให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล วิธีการดังกล่าวต้องใช้เวลามากพอสมควรแต่การสอนในชั้นเรียนส่วนใหญ่ ผู้สอนมักมีแนวโน้มจะเร่งรัดคำตอบหรือข้อโต้ตอบของผู้เรียนเสมอ
5.4.3 ในบางครั้งผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าปัญหาหรือประเด็นที่ผู้สอนหยิบยกขึ้นมาเพื่อการสืบเสาะหาความรู้นั้นแท้จริงแล้วผู้สอนมีคำตอบอยู่ในใจไว้ก่อน ซึ่งดูเหมือนว่าผู้เรียนถูกตะล่อมให้เป็นไปตามสิ่งที่ผู้สอนคิดไว้แล้ว (http://203.154.131.24/03/uploads/school077/2005-07-13_162250_การสอน. doc)
6. เทคนิคกระบวนการคิดของสมอง 6 กระบวน (6 Motions)
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีการประยุกต์ทฤษฎีและหลักการสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติออกแบบ คือ กระบวน 6 M โดยยึดหลักการคือ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2545)

6.1 การรู้คิดของสมองซีกซ้ายและขวา (Neo – cortex)
กระบวนการคิดและเรียนรู้ รวมทั้งจินตนาการเป็นผลของการคิดเฉพาะด้านและร่วมกันของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา สมองซีกซ้ายเจริญรวดเร็วในช่วงตั้งแต่ปฏิสนธิ ถึงอายุ 2 ปี และช่วงอายุ 7 – 12 ปี สมองส่วนนี้คิดเชิงวิเคราะห์ สร้างมโนทัศน์และภาษา ส่วนสมองซีกขวาเจริญในอัตราสูงและเด่นชัดในช่วงอายุ 3 – 6 ปี ทำหน้าที่คิดเชิงจินตนาการ สร้างสรรค์ สังเคราะห์และความคิดเชิงเทียบเคียง
รูปแบบของการจัดกิจกรรม
ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นการรับรู้โดยผ่านระบบประสาทสัมผัสทุกระบบ กระตุ้นการคิดของสมองทั้งการคิดพื้นฐานทุกกระบวนการคิด จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความจำและภาษา หรือความคิดเชิงพหุปัญญาของสมองทั้งรายคนและแบบกลุ่ม จัดกิจกรรมที่ยั่วยุ ท้าทายการคิดค้น ของระบบประสาทและสมอง ทุกวิธีและการเรียนรู้แบบอุปนัยซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กอย่างมีความหมาย และให้แสดงออกด้วยความคิดเชิงพหุปัญญาทุกด้าน
บทบาทของครู
เตรียมกิจกรรมการสอนอย่างหลากหลายต่อกันเป็นกระบวนการเตรียมคำถาม คำสั่ง ข้อกำหนด เงื่อนไขที่กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทายให้สมองคิด เตรียมสื่ออุปกรณ์ให้เพียงพอ เรียนร่วมกับเด็ก เพื่อศึกษาแบบการเรียนรู้ของเด็ก ครูคิดหาเทคนิคการจัด กิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ เสมอ
6.2 การคิดและเรียนรู้ของสมองส่วนกลาง (Limbic Brain)
ในด้านจิตพิสัย จิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ และการย่อยข้อมูลต่าง ๆ เป็นการทำงานของสมองส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ทั้งปวง การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางบวกทั้งในและนอกกระบวนการ จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ราบรื่น เนื่องจากจิตใจ อารมณ์ผสมผสานกับความคิดในบรรยากาศที่รับฟัง ตอบรับ การฟัง เกื้อหนุนให้กำลังใจ ใช้เหตุใช้ผล ให้โอกาส และในทางตรงข้ามการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์แบบลบ ตำหนิ ประเมิน ประณาม ใช้ความรุนแรง ทำให้จิตใจเครียด กดดัน โกรธแค้น ต่อต้าน ดื้อ ส่งผลให้สมองส่วนกลาง Limbic brain กลั่นสารเคมีมาปิดกั้น การเรียนรู้ของสมอง Neo – cortex ทั้งมวล ทำให้การเรียนรู้ทั้งเนื้อหาวิชาและจริยธรรมเต็มไปความลำบากยากยิ่ง ไม่ว่าจะใช้วิธีสอนแบบใดก็ตาม
รูปแบบการจัดกิจกรรม
กิจกรรมเสริมสร้างจิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ จะเป็นกิจกรรมแบบผ่อนคลายความกดดัน ความเครียดในการเรียน ได้แก่ ดนตรี เพลง การเคลื่อนไหวและจังหวะ เกม นิทาน การฝึกสมาธิ ในการทำงาน และการประเมินตนเอง โดยจัดเป็นกิจกรรมเฉพาะและแทรกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนตลอดเวลา

บทบาทของครู
สื่อสารปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนในทางบวก รับฟัง ตอบรับการฟัง เกื้อหนุน ให้กำลังใจ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง ชุ่มชื่น เบิกบาน มีอิสระ สร้างบรรยากาศห้องเรียนแบบประชาธิปไตย ยืดหยุ่นให้โอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดกำลังใจ ที่จะปรับปรุงตัวเอง ให้ดีมีคุณธรรมแทนการประพฤติผิด
6.3 การรู้คิดและเรียนรู้ส่วนแรก (Reptilian Brain)
สมอง Reptilian ทำหน้าที่ด้านสัมผัส รับรู้ข้อมูลทั้งหมด การเคลื่อนไหว และสัญชาติญาณ ประสาทสัมผัสทุกระบบร่วมกับผิวหนัง ข้อต่อเป็นประตูสำคัญของการรับรู้ข้อมูล รับกระตุ้นและประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทาย และเมื่อลงมือปฏิบัติจริง จึงทำให้ผู้เรียนทุกวัยเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
รูปแบบ ของการจัดกิจกรรม
ในการจัดกิจกรรมจะใช้ประสาทสัมผัสทุกระบบ เพื่อฝึกให้รับข้อมูลอย่างเร็วแม่นยำ คมและลึกซึ้งครบถ้วน รูปแบบของการเรียนจะยั่วยุ ท้าทายให้คิดและแสดงออก โดยใช้ร่างกายข้อต่อ และเคลื่อนไหวอย่างปกติและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดทักษะในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นระบวนการเรียนรู้ที่ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้แก่ผู้เรียนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ที่เป็นนามธรรมด้วยการปฏิบัติคือใช้การสัมผัสข้อต่อและร่างกาย จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างราบรื่นอย่างยิ่ง
บทบาทของครู
จัดกิจกรรมโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้เด็กรับรู้ สำรวจ สัมผัส พิจารณาด้วยตนเองตลอดเวลา การใช้ประสาทสัมผัสและข้อต่อปฏิบัติอย่างปกติและอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ครูต้องตระหนักว่าสมอง Reptilian เรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติจนเป็นทักษะ ชี้แนะ และเสริมความคิดให้ทดลองปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
6.4 การคิดการเรียนรู้ด้านสมอง (Pre – Frontal Cortex)
สมองส่วนหน้าซ้าย Pre – Frontal Cortex ทำหน้าที่คิดเชิงญาณปัญญาซึ่งเป็นวิธีคิดเชิงสังเคราะห์ได้คำตอบจากการครุ่นคิดเป็นเวลานานเพื่อแก้ปัญหา เป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นขั้นเป็นตอน ความคิดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกาย อยู่ในภาวะผ่อนคลาย ไม่เครียด เมื่อผสมผสานกับจินตนาการอันเป็นการคิดของสมองซีกขวา ทำให้เกิดผลงานที่สร้างสรรค์ รวมทั้งอาจเป็นความคิดที่แวบขึ้นมาในขณะที่ไม่รู้ตัว
รูปแบบการจัดกิจกรรม
กระตุ้นด้วยคำถามและกิจกรรมที่ใช้จินตนาการ การคิด การคาดคะเน เกม และกิจกรรมผ่อนคลายร่างกายและสมอง การกระตุ้นให้คิดในแง่มุมใหม่ การคิดหลากหลายวิธี จินตนาการแบบเพ้อฝัน การผ่อนคลาย เพื่อให้ร่างกายกับสมองทำงานร่วมกัน

บทบาทของครู
จัดกิจกรรมยั่วยุให้คิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ใช้จินตนาการ การคาดคะเน นิทาน การเพ้อฝัน และยอมรับความคิดแปลก ๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้กล่าคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ต่อไปเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในระยะเริ่มต้น ควรเรียงลำดับจาก M1 ถึง M4 ซึ่งจะช่วยให้ ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดและมีทักษะทางสังคมอย่างเป็นระบบ เมื่อนักเรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้วช่วง M 1 – M4 อาจไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามนี้ หรือไม่จำเป็นต้องสอนให้ครบทุกกระบวนในการสอนครั้งเดียว
สำหรับ M5 และ M6 ครูผู้สอนต้องแสดงบทบาทตั้งแต่บทบาทนักเรียนเข้ามาสู่โรงเรียนจนกลับไปสู่บ้าน
7. วัฏจักรการเรียนรู้แบบ 4 ส่วน (4 MAT) วัฏจักรแห่งการเรียนรู้ (4 MAT) สร้างขึ้นโดยใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์แทนการเคลื่อนไหวของกิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่ของวงกลมถูกแบ่งออกโดยเส้นแห่งการเรียนรู้ และเส้นแห่งกระบวนการจัดข้อมูลรับรู้เป็น 4 ส่วนกำหนดให้แต่ละส่วนใช้แทนกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ 4 ลักษณะโดยนิยามว่า (กรมวิชาการ, 2544)