วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การคิด

ความหมายของการคิด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีนักการศึกษาหลายท่านให้ความสนใจกับการพัฒนาความสามารถทางการคิดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการคิดเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้สูงขึ้น แต่การคิดเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีความสลับซับซ้อนของกระบวนการทำงานของสมอง ดังนั้นจึงมีนักการศึกษาได้ศึกษาเกี่ยวกับการคิด และให้ความหมายของการคิดไว้ดังนี้
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2549) กล่าวว่า การคิด (Thinking) คือ การที่คนคนหนึ่งพยายามใช้พลังทางสมองของตนในการนำเอาข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดวางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้มา ซึ่งผลลัพธ์ เช่น การตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด
นุจรินทร์ สังยวน (2549) ความคิดหรือการคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองโดยที่มีการจัด ระบบความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งเร้าใหม่ โดยที่การจัด ระบบนั้นมีลักษณะที่เป็นได้ทั้งในรูปแบบธรรมดา และสลับซับซ้อน ผลจากการจัดระบบสามารถแสดง ออกได้หลายลักษณะ เช่น การสร้างภาพในสมอง จินตนาการ การสร้างสิ่งที่เป็นนามธรรม การให้เหตุผล การไตร่ตรอง การสะท้อนความรู้สึก และการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น การคิดจึงเป็นลักษณะสำคัญที่สุดที่แสดงคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์
การคิดเป็นกิจกรรมทางสมองที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การคิดเป็นความสามารถอย่างหนึ่งทางสมอง การคิดเป็นนามธรรมที่ลักษณะซับซ้อน มองไม่เห็น ไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้ การวัดความสามารถในการคิด ผู้สร้างเครื่องมือวัดต้องมีความรอบรู้ในทฤษฎี โครงสร้าง องค์ประกอบของการคิด เพื่อนำมากำหนดจุดมุ่งหมาย นิยามเชิงปฏิบัติการ แล้วจึงสร้างผังของแบบวัด แล้วจึงจะสร้างแบบวัดที่มีคุณภาพได้ (http://www.moe.go.th/check/nana2. htm, 2549)
ไบเออร์ (Beyer, 1987) กล่าวว่า การคิดมีคุณค่า เพราะการคิดช่วยให้คนได้มองเห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตซึ่งจะช่วยให้บุคคลได้คิดหาแนวทางในการการคิดคือการค้นหาความหมาย ผู้ที่คิดคือผู้ที่กำลังค้นหา ความหมายของอะไรบางอย่าง นั่นคือกำลังใช้สติปัญญาของตนทำความเข้าใจกับความรู้ใหม่ ที่ได้เข้ามารวมกับความรู้เดิมหรือประสบการณ์ที่มีอยู่เพื่อหาคำตอบว่าคืออะไร หรืออีกแบบหนึ่งว่าเป็นการนำเอา ข้อมูลที่เพิ่งเข้ารับใหม่ไปรวมเข้ากับข้อมูลเก่าที่ระลึกได้ เพื่อสร้างเป็นความคิดอ่าน เหตุผล หรือข้อตัดสิน
ฮัมฟรี (Humphrey, 1963) ได้สรุปความหมายของการคิดไว้ดังนี้
1. การคิดเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ประสบ จำได้ และต้องการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. ปัญหาเป็นสภาพการณ์ที่มนุษย์ถูกสกัดกั้นไม่ให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ
3. การคิดเป็นกระบวนการของการผสมผสานลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาเข้าด้วยกัน
4. การคิดเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในอดีต
5. กิจกรรมการคิดทุกอย่างเกี่ยวข้องกับ “การลองผิดลองถูก” ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์
6. แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญในการคิด
7. ภาษาไม่สามารถเทียบได้กับความคิด แต่ภาษามีส่วนสำคัญอย่างมากในการคิด
8. ส่วนประกอบต่างชนิดกันจำนวนมากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นปัญหาซึ่งได้แก่ ภาพในใจ กิจกรรมทางกล้ามเนื้อ การพูด และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ
สรุปได้ว่าการคิด คือ กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบของสมอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากการรับรู้ การสัมผัส ประสบการณ์ต่างๆและสิ่งเร้าที่มากระตุ้น โดยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปการคิดจะไม่มีประสิทธิภาพและผลของการคิดจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมต่างๆ

ความสำคัญของการคิด
ความสำคัญของการคิด ดิวอี้ (Bragg, 2001, p.1; Cutubg, Dewey, 1933) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการคิดว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพราะการคิดช่วยให้คนได้มองเห็นภาพปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตซึ่งจะช่วยให้บุคคลได้คิดหาแนวทางในการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้และการคิดช่วยขยายความหมายของสิ่งต่างๆ ใน โลกได้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการคิดคือ คนจะมีการปฏิบัติหรือการกระทำตามที่เขาคิดถึงแม้ว่ามันจะถูกหรือผิดก็ตามเนื่องจากการติดมีพลังอำนาจ จึงต้องการการควบคุมโดยได้แนะนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการช่วยรักษาความคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้องโดยมีการควบคุมเงื่อนไขภายใต้การสังเกต และการสรุปความคิดตามสิ่งที่เกิดขึ้นและได้มีการทบทวนแนวคิดโดยกล่าวว่า สิ่งที่บุคคลรู้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดระบวนการคิดครั้งแรกแล้วจึงนำไปสู่การคิดในสิ่งอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของกระบวนการคิดนั้น
เนื่องจากการคิดมีอิทธิพลอย่างมากจากกิเลสที่อยู่ภายในตัวบุคคล และสังคมภายคิดที่ผิดจึงได้กำหนดเงื่อนไขโดยเปิดใจกว่างในการคิด ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและเป็นจริง และจากการควบคุมเงื่อนไขสามารถช่วยกำหนดกรอบแนวคิดที่ดีสำหรับความจริง ทำให้การคิดมีความสมบูรณ์ขึ้นโดยจะพยายามให้เกิดความชัดเจนในการตรวจสอบโดยปราศจากอคติ

นิสัยในการคิด
การคิดสามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งกระตุ้นหรือการฝึกนิสัยในการคิดดังนี้ (Bragg, 2001, pp.31 – 44; Dewey, 1933, pp.36 – 48)
1. ความกระตือรือร้น หรือ ความอยากรู้อยากเห็น สิ่งที่มีชีวิต ทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ ขณะตื่นจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยจะมีการกระทำกับสิ่งนั้น และรับผลกระทบที่ย้อนกลับมาจากสิ่งนั้นด้วย กระบวนการของการปฏิสัมพันธ์จะสร้างให้เกิดกรอบของประสบการณ์ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หลาย ๆ สิ่งที่เข้ามาสัมผัส มักเป็นสิ่งที่เคยสัมผัสมาแล้วซึ่งอาจทำให้รู้สึกเบื่อ แต่สำหรับเด็กทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ยังเป็นสิ่งใหม่ และทุกสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่จะทำให้เด็กตื่นเต้นและอยากรู้อยากที่จะค้นหาโดยไม่มีความอดทนที่จะคอย จึงเป็นปัจจัยขั้นแรกที่เป็นบ่อเกิดในการพัฒนาให้มีการคิดแบบวิจารณญาณ ระดับความกระตือรือร้น มี 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ปรากฏการณ์ครั้งแรก ความกระตือรือร้นมักจะไม่ได้มาจากการคิดแต่เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต เช่น หนูจะวิ่ง ดม ขุด โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เช่นเดียวกับเด็กเล็ก ๆ ที่จะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบค้นหาตลอดเวลา โดยไม่มีการหยุดนิ่งเช่นการดูดนิ้วมือ การดึงและ การผลักสิ่งของ การจับและโยน เป็นต้น
ระดับที่ 2 มีการพัฒนาขึ้นจากระดับแรก โดยมีอิทธิพลจากสิ่งเร้าในสังคมเมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าเขาสามารถเรียกร้องให้บุคคลอื่นได้ช่วยเหลือเขาในการจัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสนใจ เมื่อมีบางครั้งที่เขาได้สัมผัสสิ่งที่ไม่น่าสนใจแล้ว ดังนั้น ในช่วงนี้เด็กจะเริ่มตั้งคำถามว่า อะไร ทำไม แต่คำถามของเขาส่วนใหญ่มักไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนแต่จะเป็นการอยากรู้ในสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป
ระดับที่ 3 เป็นระดับที่เกี่ยวข้องกับการใช้สติปัญญาโดยจะปรับเปลี่ยนเป็นความสนใจในปัญหาโดยมีการสังเกตสิ่งต่าง ๆ และมีการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นและมีความตื่นตัว ในการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งมีความแตกต่างกับระดับที่ 2 ซึ่งเป็นระดับของสังคม ที่เด็กมักจะมีความสนใจในการถามมากกว่าความสนใจกับคำตอบ จึงให้ความสนใจกับแต่ละคำถามโดยใช้เวลาสั้น ๆ จึงไม่สามารถพัฒนาเข้าสู่การฝึกการคิดได้ อย่างไรก็ตามการถามและการตอบสามารถช่วยกระตุ้นการคิดได้ โดยการตั้งประเด็นคำถามที่สำคัญจะช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นในการแสวงหาคำตอบ โดยการใช้เทคนิค การสืบสวนและการสังเกต ซึ่งใช้เป็น ทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ ซึ่งในระดับนี้จะกระตุ้นให้เกิดการคิดโดยใช้ปัญญาได้ ความกระตือรือร้นจะเป็นแรงกระตุ้นทางบวก ที่จะทำให้บุคคลมีจิตใจเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ การลดลงของความกระตือรือร้น มักเกิดขึ้นจากความไม่สนใจ หรือไม่เอาใจใส่สนใจแต่งานที่ทำตามกิจวัตร จึงไม่เข้าถึงปัญหา และข้อเท็จจริงใหม่ และมีความอยากรู้อยากเห็นเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในงาน
2. ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเองโดยบุคคลนั้น ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นความคิด ที่เกิดขึ้นครั้งแรก และเกิดขึ้นเองโดยบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์โดยทำให้บุคคลได้มองสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กบางคนมองนกที่เห็นเป็นนกตามที่เป็นอยู่ แต่บางคนมองเห็นนกแต่คิดถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่เกี่ยวกับนกตามประสบการณ์ที่มี เช่น การบิน การกินอาหาร การร้องเพลง เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ปรากฏขึ้นในขณะนั้น ดังนั้นความคิดเห็นจึงเกิดขึ้นจากมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับบุคคลในอดีต และไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันความคิดเห็นมีด้วยกันหลายมิติ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนประกอบด้วย
2.1 การคิดคล่องหรือคิดเร็ว กล้าที่จะคิดและมีความคิดหลั่งไหล ออกมาได้อย่างรวดเร็ว การคิดเร็ว จะช่วยให้เกิดความตื่นตัวในการตอบสนองโดยมีการตีความและช่วยให้เกิดความคิดเห็นตามมา
2.2 การคิดหลากหลาย ความคิดหลายๆ ลักษณะ หลายประเภทหลายชนิดหลายรูปแบบ ถ้ามีความคิดเห็นที่น้อยเกินไปก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ หรือขาดแคลน อย่างไรก็ตามความคิดเห็นที่มีจำนวนมากทั้งเห็นด้วย และขัดแย้งกันทำให้ยากต่อการ ตัดสินใจและความคิดเห็นที่มากเกินไปทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียบเรียงลำดับความเป็นเหตุผล ดังนั้นการคิดที่ดีที่สุดคือ การมีความสมดุล ระหว่างความมากและน้อยของความคิดเห็น
2.3 การคิดลึกซึ้งเป็นการคิดให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่คิด โดยเข้าใจถึงสาเหตุ ที่มา และความสัมพันธ์ต่างๆที่ซับซ้อนของโครงสร้าง และรวมทั้งคุณค่า หรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่คิด
3. การจัดลำดับการคิด การคิดแบบวิจารณญาณ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำความคิดเห็นมาจัดเป็นระบบโดยกำหนดมิติแล้วนำข้อมูล มาจัดเป็นกลุ่มตามมิติ แล้วนำมาหาความสัมพันธ์ระหว่างมิติด้วย ความคิดเห็นเหล่านั้นจะถูกจัดการ โดยยึดข้อเท็จจริงที่นำมาพิสูจน์และมีการพิจารณาร่วมกับบุคคลอื่นการพัฒนาลักษณะนิสัยของการจัดลำดับการคิด เป็นวิธีการอ้อมไม่ใช่ทางตรง โดยการจัดลำดับการคิดจะกระทำผ่านการจัดลำดับของกิจกรรม การสังเกตต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการกระทำโดยต้องกระทำอย่างถูกต้อง แล้วนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน มาจัดหมวดหมู่และแบ่งแยกออก เป็นกลุ่มเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ การสรุปอ้างอิงต้องกระทำโดยทุกคน แล้วนำมาทดสอบเพื่อลงข้อสรุป เนื่องจากการฝึกการคิดเป็นวิธีการทางอ้อม ด้วยเหตุผลนี้ปัญหาในการสร้างนิสัยในการคิดแบบวิจารณญาณ จึงอยู่ที่
3.1 การสร้างสถานการณ์ในการกระตุ้นและชี้นำให้เกิดความกระตือรือร้น
3.2 การกำหนดความเกี่ยวพันของประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการสร้างความคิดเห็น
3.3 การสร้างสรรค์ปัญหาและจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุน ความต่อเนื่องและลำดับของการคิดในการสร้างความสำเร็จของการคิด
สรุปนิสัยในการคิด หมายถึง ลักษณะการแสดงออกของบุคคล ประกอบด้วย
1. ความกระตือรือร้น หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลที่แสดงออกอันเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ระดับความกระตือรือร้น มี 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ความกระตือรือร้นได้มาจากสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต
ระดับที่ 2 เป็นการอยากรู้ในสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป
ระดับที่ 3 เป็น การใช้สติปัญญาโดยจะปรับเปลี่ยนเป็นความสนใจในปัญหาโดยมีการสังเกตสิ่งต่าง ๆ และมีการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นและมีความตื่นตัว ในการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง
2. ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเองโดยบุคคลนั้น หมายถึง ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นความคิด ที่เกิดขึ้นครั้งแรก และเกิดขึ้นเองโดยบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์โดยทำให้บุคคลได้มองสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เหมือนกัน ประกอบด้วย
2.1 การคิดคล่องหรือคิดเร็ว หมายถึง การที่บุคคลมีความสามารถในการคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ได้จำนวนมากในเวลาที่กำหนด
2.2 การคิดหลากหลาย หมายถึง ความคิดหลายๆ ลักษณะ หลายประเภทหลายชนิดหลายรูปแบบ
2.3 การคิดลึกซึ้งหมายถึง การคิดให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่คิดโดยเข้าใจถึงสาเหตุ ที่มา และความสัมพันธ์ต่างๆที่ซับซ้อนของโครงสร้าง และรวมทั้งคุณค่า หรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่คิด
3. การจัดลำดับการคิด หมายถึง การนำความคิดเห็นมาจัดเป็นระบบ การจัดลำดับการคิด เป็นวิธีการอ้อม โดยการจัดลำดับการคิดจะกระทำผ่านการจัดลำดับของกิจกรรม
3.1 การสร้างสถานการณ์ในการกระตุ้นและชี้นำให้เกิดความกระตือรือร้น
3.2 การกำหนดความเกี่ยวพันของประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการสร้างความคิดเห็น 3.3 การสร้างสรรค์ปัญหาและจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุน ความต่อเนื่องและลำดับของการคิดในการสร้างความสำเร็จของการคิด