วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พฤติกรรมของบุคคลที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นพฤติกรรมภายในสมองที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรงแต่ก็สามารถจะเล็งเห็นได้ว่าเกิดพฤติกรรมภายในขึ้น จากการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ บุคคลต่างๆ อธิบายพฤติกรรมการแสดงออกของการคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วยลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
เอนนิส (Ennis, 1985, pp.144-146) ได้กล่าวถึง พฤติกรรมของบุคคลที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณไว้ว่ามี 3 ด้านดังนี้ คือ
1. ด้านการแสดงออก
1.1 พูด เขียน หรือการสื่อความหมายความเข้าใจโดยมีความหมายชัดเจน
1.2 กำหนดประเด็นปัญหาที่แน่นอน
1.3 พิจารณาสถานการณ์รวมทั้งหมด
1.4 แสวงหาเหตุผลและให้เหตุผล
1.5 เป็นผู้ที่มีความรู้ทันสมัยอยู่เสมอ
1.6 มองหาทางเลือกหลายๆ ทาง
1.7 แสวงหาความถูกต้องแม่นยำให้มากที่สุดตามที่สถานการณ์ต้องการ
1.8 ตระหนักถึงความเชื่อพื้นฐานของตนเอง
1.9 เปิดใจกว้างพิจารณาทัศนะอื่นๆ นอกเหนือจากแนวคิดของตน
1.10 ไม่ด่วนตัดสินใจกรณีที่หลักฐานและเหตุผลไม่เพียงพอ
1.11 ยืนยันจุดยืนหรือเปลี่ยนจุดยืนเมื่อมีหลักฐานและเหตุผลที่เพียงพอ
1.12 ใช้การคิดวิจารณญาณของตนเอง
2. ด้านความสามารถ บอกได้ชัดเจนว่าประเด็นนั้นเป็นการอ้างเหตุผลปัญหาหรือข้อสรุป
2.1 วิเคราะห์การให้เหตุผล
2.2 ถามหรือตอบคำถามเกี่ยวกับความชัดเจนและความถูกต้องตามหลักการ
2.3 ให้นิยามหรือแนวคิดที่มีความหมายกำกวม
2.4 ชี้ให้เห็นความคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังที่ไม่อาจจะแสดงให้ชัดเจน
2.5 วินิจฉัยความน่าเชื่อถือของที่มาของแนวคิดและเหตุผลต่างๆ ได้
2.6 สังเกตและวินิจฉัยรายงานการสังเกตได้
2.7 ตัดสินใจด้วยการใช้กฎต่างๆ ได้ และประเมินการวินิจฉัยได้ด้วย
2.8 คิดด้วยเหตุผลจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วสรุปเป็นกฎเกณฑ์ และประเมินค่ากระบวนการคิดหาเหตุผลที่นำไปสู่ข้อสรุปได้
2.9 วินิจฉัยตัดสินค่านิยมต่างๆ และประเมินการวินิจฉัยตัดสินคุณค่าของค่านิยมนั้นได้
2.10 เหตุผลโดยอาศัยหลักฐาน เหตุผลข้อสันนิษฐาน แนวคิดที่เป็นจุดยืนของข้อความที่ตนเองไม่เห็นด้วยหรือยังมีข้อสงสัย
2.11 ผสมผสานความสามารถและพฤติกรรมอื่นๆ ในการตัดสินใจ และการเสนอผลการตัดสินใจให้เป็นที่ยอมรับ
2.12 ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ทำตามขั้นตอนต่างๆของการแก้ปัญหา สังเกตความคิดของตนเองและใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมในการคิด
2.13 ไวต่อความรู้สึก ระดับความรู้ และความเป็นผู้รู้ของผู้อื่น
2.14 ใช้วิธีพูดที่เหมาะสมในการอภิปรายและเสนอความคิดเห็น
2.15 ใช้หรือมีปฏิกิริยาต่อแนวความคิดหรือความเชื่อที่ผิด ๆ ด้วยกิริยาที่เหมาะสม
อุษณีย์ โพธิสุข (2537, หน้า 98 – 99) ได้สรุปลักษณะของผู้ที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณไว้ดังนี้
1. เสาะหาปัญหา
2. เสาะหาต้นตอของปัญหา หรือเหตุผล
3. พยายามที่จะรับข้อมูล
4. ใช้แหล่งข้อมูลมาก
5. รวบรวมสถานการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันรวมทั้งบริบทของปัญหา
6. แยกแยะประเด็นสำคัญแล้วมุ่งคิดแก้หรือทุ่มความคิดที่เป็นประเด็นหลัก
7. สำรวจตรวจตราหรือใส่ใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่าเกี่ยวข้อง
8. มองหาแนวทางหลากหลาย
9. มีจิตใจกว้างขวาง และ พิจารณาแนวความคิดของคนอื่นมากกว่าของตัว ใช้เหตุผลไตร่ตรองอย่างรอบคอบไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องนั้น ก็ตาม ถ้าไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานแน่ชัดก็จะไม่ตัดสินใจอย่างขาดขั้นตอน
10. กระตือรือร้นที่จะยื่นมือเข้าจัดการหากมีเหตุผลและมีความเหมาะสม
11. จัดการงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความละเอียดลึกซึ้ง
12. ใช้ความสามารถในเชิงวิจารณญาณอย่างมาก
13. ไวต่อความรู้สึกการรับรู้ ค่านิยม คุณค่าขององค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้อื่น
อัลฟาโร เลอแฟร์ (Alfaro – Lefevre, 1994, p.10) ได้สรุปลักษณะการแสดงออกของบุคคลที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไว้ดังนี้
1. มีความรอบรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความลำเอียง และอคติต่าง ๆ
2. มีความเชื่อมั่น กระตือรือร้น และมีเจตคติที่ดีต่อคำถาม
3. มีทักษะในการติดต่อสื่อสารที่ดี เมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำความเข้าใจข้อเท็จจริง และการแสวงหาทางเลือก
4. มีใจเปิดกว้าง ยอมรับความคิดที่แตกต่างจากตน และจะตัดสินใจเมื่อมีหลักฐานที่เชื่อถือได้
5. รู้จักถ่อมตัว และยอมรับความจริงว่า ไม่มีใครรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
6. มีการคิดในเชิงรุก เน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา
7. มีระบบและวิธีการที่ดีในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
8. มีความยืดหยุ่น รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการและทางเลือกเมื่อมีเหตุผลใหม่ที่ดีพอ
9. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักตรรกศาสตร์ รู้จักค้นหาหลักฐานและรู้จักประเมินความเสี่ยงหรือผลที่ได้รับก่อนลงมือปฏิบัติ
10. ยอมรับว่า คำตอบที่ดีที่สุดไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด
11. การรู้จักสร้างสรรค์ และผูกพันกับสิ่งดีเลิศ เพื่อหาทางเลือกในการปรับปรุงตนเองและปรับปรุง
เรนส์ (Raines, 1996, p.412) ได้สรุปลักษณะการแสดงออกของบุคคลที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนี้
1. มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้จนเป็นนิสัย
2. การมีความซื่อสัตย์ต่อเหตุผล
3. การมีใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
4. การมีข้อมูลที่ดีใช้แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
5. การมีความยุติธรรมในการประเมิน
6. การกล้าผจญกับความอคติของบุคคลอื่น
7. การมีความฉลาด สุขุม รอบคอบในการตัดสินใจ
8. การมีความตั้งใจในการแสวงหาข้อเท็จจริง
9. การมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นปัญหา
10. การจดบันทึกเรื่องราวที่ซับซ้อนและสำคัญ
11. การมีความมุมานะในการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและการตัดสินใจ
12. การใช้เหตุผลในการเลือกเกณฑ์ต่าง ๆ
13. การมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนความคิดเห็นหรือทางเลือกเมื่อมีหลักฐานที่ดีกว่าเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเหตุผลในกระบวนการ ด้วยตนเอง
เวด (Wade: 1995) ได้สรุปลักษณะของผู้มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนี้
1. คิดตั้งคำถาม
2. ทำให้คำถามมีความชัดเจน
3. ตรวจสอบหาข้อมูล
4. วิเคราะห์ข้อสันนิษฐานและความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้น
5. หลีกเลี่ยงที่จะใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสิน
6. หลีกเลี่ยงการคิดแบบตื้น ๆ ง่าย ๆ เกินไป
7. พิจารณาถึงการตีความที่อาจเป็นไปได้หลายทาง
8. ยอมรับว่าอาจมีภาวะกำกวมไม่ตรงไปตรงมาเกิดขึ้นได้
9. ตระหนักรู้เกี่ยวกับความคิดของตน รู้ตัวว่าคิดอะไรอยู่
กล่าวโดยสรุปลักษณะของผู้มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ต้องเป็นผู้สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยคำนึงถึงหลักฐาน มีความสามารถในการแสดงออก มองสภาพโดยรวม แสวงหาข้อมูล ค้นหาประเด็นสำคัญของข้อมูลหาทางเลือก กระตือรือร้นจัดการอย่างมีเหตุผล ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น: